ตราวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง
เสมาธรรมจักร หมายถึง ความดีงาม
บัลลังก์สิงห์ หมายถึง ความมั่นคง
ศิระประภา (รัศมีเปลวพระพุทธรูป) ใต้เสมาธรรมจักร หมายถึง แสงสว่างแห่งปัญญา
ตัวเลข ๑ (ในรัศมีเปลว) หมายถึง ความล้ำเลิศแห่งปัญญา
ดอกบัวที่บานพ้นน้ำ (ด้านข้างทั้งสอง) หมายถึงการเกิดปัญญา
กนกเปลว (ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเปลวไฟ) หมายถึง ความสว่างไสว โชติช่วงตลอดเวลา
อักษร ทุ.ส.นิ.ม. (ด้านล่างย่อมาจาก องค์ประกอบของอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) หมายถึงความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ
เส้นโค้งโดยรอบ มีอักษร “วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง” ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ความหมายรวมของตราสัญลักษณ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คือความล้ำเลิศทางปัญญา
ตั้งอยู่บนรากฐานที่มั่นคงและดีงาม โอบล้อมด้วยความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
และความสว่างไสวโชติช่วงของปัญญา ที่ได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
ต้นพญ้าไม้
ต้นไม้ ประจำวิทยาลัย
ต้นพญาไม้ หรือ ต้นขุนไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Podocarpus neriifolius D.Don
ชื่อวงศ์ : PODOCARPACEAE
ลักษณะทั่วไป : เป็นพืชที่กระจายพันธุ์ในอินเดีย จีนตอนใต้ คาบสมุทรอินโดจีน อินโดนีเซียจนถึงหมู่เกาะโซโลมอน ลักษณะเป็นไม้ต้นสูง 25-30 เมตร ใบรูปใบหอกหรือรูปแถบ หนา ยาว 7-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ออกเรียงเวียน โคนเพศผู้ออกตามซอกใบเป็นกลุ่ม 2-3 ช่อ ยาว 2.5-5 เซนติเมตร กลีบประดับออกเรียงเวียนจำนวนมาก เมล็ดเปลือยอยู่บนฐานที่พัฒนามาจากเกล็ดของออวุล ออกเดี่ยว ๆ ก้านยาว 1-2 เซนติเมตร ที่โคนมีใบประดับรูปลิ่มแคบ 2 ใบ เมล็ดมีเยื่อหุ้มคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่ถึงเกือบกลม ยาว 1-1.5 เซนติเมตร เมื่อสุกมีสีม่วงแดง
ประวัติเกี่ยวกับการเลือกพันธ์ไม้นี้เป็นสัญญลักษณ์ของวิทยาลัย อันเนื่องมาจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “ทรงปลูก” ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมวิชาการ องค์การเกษตรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ในพระราชูปถัมภ์ ฯ ระดับชาติ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2553 คณะกรรมการได้ลงมติเลือกชื่อพรรณไม้ “พญาไม้” นี้เป็นมงคลนามต่อวิทยาลัย ซึ่งเป็นไม้มงคลที่ป้องกันสิ่งอัปมงคลหรือที่เรียกกันว่าป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ และสามารถคุมไม้ต่าง ๆ ที่ไม่เป็นมงคลตามความเชื่อได้.
ต้นพญ้าไม้หรือต้นขุนไม้ (ผู้ปกปักรักษาต้นไม้ป่าทั้งปวง) คือ 1 ในไม้ป่าโบราณ อันเป็นมงคลของไทย ที่หายากมากในปัจจุบัน คนทำสวนป่ามักจะรู้กันดีว่าการปลูกต้นขุนไม้นั้นไม่ง่ายเลย บุญบารมี ต้องถึง!!!…. ขุนไม้ถึงจะเติบโต สวยงาม.
สีวิทยาลัย
สีวิทยาลัย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรังมีสีประจำมหาวิทยาลัยเป็น
สีเขียว หมายถึง ความอดทนสมบูรณ์
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ของจิตใจ
สีเหลือง หมายถึง รวงข้าว เป็นพืชผลหลักทางเกษตร
ใช้สีประจำวิทยาลัย เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 9 ส่วน ยาว 6 ส่วน โดยแบ่งพื้นที่บนผืนธงเป็นแถบ ๓ แถบ แถบบนเป็นสีเขียว แถบกลางเป็นสีขาว และล่างเป็นสีเหลือง
พระพิรุณทรงนาค
พระพิรุณทรงนาค สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2551 โดยเงินบริจาคของศิษย์เก่าและผู้มีจิตศรัทธา จำนวน 800,000 บาท พระพิรุณ เป็นโอรสของ ฤาษีกรรทมพรหมบุตร และว่าเป็นโลกบาลรักษาทิศประจิม เป็นใหญ่ในหมู่นาค เป็นเทพเจ้าแห่งฝน แห่งน้ำ หรือทะเลเป็นผู้บันดาลให้ฝนตก เป็นโลกบาลทิศประจิม(ทิศตะวันตก) พญานาคเป็นพาหนะของพระพิรุณและเป็นกำลังในการให้น้ำ พระพิรุณทรงนาคจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์อันสืบเนื่องจากพื้นแผ่นดิน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรังจึงให้พระพิรุณทรงนาค เป็นสัญลักษณ์ของสถานศึกษาสืบต่อมา
พระพิรุณ ถือกันว่าเป็นเทพที่มีพระวรกายงามมาก นับว่าเป็นผู้สร้างและบำรุงทั้งเทวโลกและมนุษยโลก และเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณายิ่ง แต่ว่าท้าวเกลียดความเท็จเป็นที่สุด กล่าวกันว่าไม่มีใครที่พูดความเท็จโดยที่พระวรุณจะไม่ทราบได้เลย และรู้ละเอียดยิบว่าใครจะกะพริบตากี่ครั้ง เมื่อใครกล่าวเท็จหรือผิดสัญญา ก็ใช้วรุณบาศคล้องไปลงทัณฑ์ หรือบันดาลให้ป่วยไข้ และทำนองเดียวกันถ้าใครอยู่ในสัตย์หรือเกรงต่อบาปก็จะปูนบำเหน็จให้มีความสุขความเจริญ และช่วยให้พ้นมฤตยูได้ในบางครั้งบางหน
ศาลโต๊ะดำ
ศาลโต๊ะดำ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2544 เป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เครารพนับถือของวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ร่ำลือกันว่า “โต๊ะดำ” เป็นผู้มีวิเศษ บำเพ็ญศีลอย่างเคร่งครัด มีวิชาอาคม สามารถช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก หากมีเรื่องทุกข์ร้อน ให้มาบนบานจะสำเร็จลุล่วงไปได้ คนส่วนใหญ่มักจะมาขอพรเรื่องของ การงาน การเรียน โชคลาภและการเลื่อนตำแหน่ง รวมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและการก่อสร้าง
เครื่องเซ่นต่างๆ ที่ประกอบด้วย พริกแดง 9 ดอก หมากพลู 9 คำ ยาเส้นใบจาก 3 ห่อ ดอกไม้ 3 กำ พวงมาลัย 3 พวง ผลไม้ ข้าวเหนียวขาว และข้าวเหนียวเหลือง พร้อมไก่ปิ้ง เพื่อเป็นสิริมงคล ของที่นำมาไหว้แก้บนจะเป็นอาหารอะไรก็ได้แล้วแต่สะดวก แต่ห้ามนำหมูหรืออาหารที่มีส่วนประกอบจากเนื้อหมูและของมึนเมาต่างๆ เช่น เหล้า เบียร์หรือไวน์ มาถวายโดยเด็ดขาด