การรับบริการงานทะเบียน

1. การลงทะเบียนเรียนรายวิชา

ให้นักเรียนนักศึกษาลงทะเบียนเรียนให้แล้วเสร็จก่อนวันเปิดภาคเรียนโดยดำเนินการดังต่อไปนี้

1.1 นักเรียนนักศึกษารับบัตรลงทะเบียนรายวิชาคนละ 3 แผ่นจากครูที่ปรึกษา (นักเรียน นักศึกษาสมทบรับที่งานทะเบียน) ผู้ที่รักษาสภาพการเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือพักการเรียนไว้ ถ้าประสงค์จะลงทะเบียนเรียนให้ขอใบคำร้องขอกลับเข้าศึกษาต่อที่งานทะเบียน กรอกรายละเอียด ใบคำร้องให้ชัดเจนและขอความเห็นชอบจากฝ่ายต่างๆ เมื่อผู้อำนวยการอนุมัติให้กลับเข้าศึกษาต่อ จึงนำใบคำร้องที่อนุมัติแล้วไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่งานทะเบียนเพื่อรับบัตรลงทะเบียนเรียนภายในสัปดาห์แรกของภาคเรียน เว้นแต่กลับเข้าเรียนในภาคเรียนเดียวกัน

1.2 ตรวจสอบความถูกต้องของรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานั้นๆ

1.3 ขอความเห็นชอบจากครูที่ปรึกษาในการลงทะเบียนเรียน

1.4 ชำระเงินที่งานการเงิน (เฉพาะนักศึกษาระดับ ปวส.) กรณีที่นักศึกษามีความประสงค์ขอผ่อนผันการชำระเงินค่าลงทะเบียนรายวิชาให้ผู้ปกครองยื่นใบคำร้องขอผ่อนผันต่อผู้อำนวยการ โดยชำระในภาคเรียนหนึ่ง ๆ ได้ 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายต้องชำระก่อนวันประเมินสรุปผลการเรียน

1.5 นำบัตรลงทะเบียนเรียนยื่นต่องานทะเบียนเพื่อประทับตรา “ลงทะเบียนแล้ว” มอบไว้ให้งานทะเบียน 1 แผ่น มอบครูที่ปรึกษา 1 แผ่น อีก 1 แผ่น นำไปแสดงต่อครูประจำวิชาที่เข้าเรียนในชั่วโมงแรกเพื่อรับทราบและนักเรียนนักศึกษาเก็บไว้เป็นหลักฐานการแจ้งผลการเรียนในแต่ละภาคเรียน งานทะเบียนจะแจ้งผลการเรียนถึงผู้ปกครอง
ครูที่ปรึกษา และแจ้งให้นักเรียนนักศึกษาทราบ และเก็บรวบรวมไว้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องกับ รบ.(ระเบียนแสดงผลการเรียน) ซึ่งวิทยาลัยฯ จะออกให้เมื่อลาออกหรือสำเร็จการศึกษา

นักเรียน นักศึกษาที่ไม่สามารถลงทะเบียนเรียนได้ ให้ติดต่อรักษาสภาพการเป็นนักเรียน นักศึกษาภายใน 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันปิดการลงทะเบียนพร้อมทั้งชำระเงินค่าธรรมเนียมตามระเบียบ ว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษา

หากนักเรียน นักศึกษาที่ไม่สามารถลงทะเบียนตาม วัน เวลา ซึ่งทางวิทยาลัยฯ กำหนดไว้จะต้องมายื่นคำร้องที่งานทะเบียน และต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการจึงลงทะเบียนหลังกำหนดได้ (วิทยาลัยฯ จะอนุญาตให้ลงทะเบียนรายวิชาหลังกำหนดได้เฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น)

2. การเปลี่ยน การเพิ่มและการถอนรายวิชาเรียน

นักเรียนนักศึกษาจะขอเปลี่ยนรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วหรือขอเพิ่มรายวิชาต้องกระทำภายใน 15 วันนับแต่วันเปิดภาคเรียน ส่วนการถอนรายวิชาต้องกระทำภายใน 30 วันนับแต่วันเปิดภาคเรียนทั้งนี้ การขอเปลี่ยน ขอถอนหรือขอเพิ่มรายวิชา ต้องได้รับความเห็นชอบจากครูผู้สอนและหรือครูฝึกและครูที่ปรึกษาและหรือผู้ควบคุมการฝึก

3. การลา

เมื่อนักเรียน นักศึกษามีความจำเป็นต้องลากิจ หรือลาป่วยให้ขอใบลาที่งานทะเบียน และผ่านครูที่ปรึกษาลงความเห็น ให้ครูประจำวิชาเซ็นรับทราบ เก็บหลักฐานไว้ที่ครูที่ปรึกษา

4. การสอบแก้ 0/แก้ ม.ส.

4.1 ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอสอบแก้ 0 (นักเรียนหลักสูตร ปวช.)

1.) นักเรียนรับใบคำร้องที่งานทะเบียน วิชาละ 2 ฉบับ ในวันประกาศผลการเรียน

2.) เขียนรายการในใบคำร้องให้สมบูรณ์ เสนอครูที่ปรึกษาลงนาม

3.) เสนอใบคำร้องครูผู้สอนเพื่อนัดวันสอบ และส่งใบคำร้องไว้ที่ครูผู้สอน 1 ฉบับ สำหรับครูผู้สอนแนบส่งพร้อมผลการสอบแก้ 0

4.) นักเรียนนำใบคำร้องอีก 1 ฉบับ ส่งที่งานวัดผลและประเมินผล

5.) เข้าสอบตามวัน เวลาที่ครูผู้สอนนัด ภายใน 10 วัน นับแต่วันประกาศผลการเรียนรายวิชา

4.2 ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอแก้ ม.ส. (นักเรียนหลักสูตร ปวช. และนักศึกษาหลักสูตรปวส.)

1.) นักเรียน นักศึกษารับใบคำร้องที่งานทะเบียน วิชาละ 2 ฉบับ ในวันประกาศผลการเรียน

2.) เขียนรายการในใบคำร้องให้สมบูรณ์ เสนอครูที่ปรึกษาลงนาม

3.) เสนอใบคำร้องครูผู้สอนเพื่อนัดวันสอบหรือส่งงาน และส่งใบคำร้องไว้ที่ครูผู้สอน 1 ฉบับ สำหรับครูผู้สอนแนบส่งพร้อมผลการแก้ ม.ส.

4.) นักเรียนนำใบคำร้องอีก 1 ฉบับ ส่งที่งานวัดผลและประเมินผล

5.) เข้าสอบหรือส่งงาน ตามวัน เวลาที่ครูผู้สอนนัด ภายใน 10 วัน นับแต่วันประกาศผลการเรียนรายวิชา

5. การขอเลื่อนสอบ

ถ้านักเรียน นักศึกษามีความจำเป็นไม่สามารถเข้าสอบได้ตามวัน เวลาที่สถานศึกษากำหนด ต้องยื่นใบคำร้องพร้อมหลักฐานประกอบก่อนการสอบไม่น้อยกว่า 3 วัน เนื่องจากประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยระหว่างหรือก่อนประเมินสรุปผลการเรียน/ถูกควบคุมโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย/เป็นตัวแทนสถานศึกษาหรือสถานประกอบการเข้าร่วมประชุม ปฏิบัติดังนี้

5.1 ขอใบคำร้องขอเลื่อนการสอบจากงานทะเบียนและกรอกรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจนและผู้ปกครองลงชื่อรับรอง

5.2 ยื่นคำร้องพร้อมใบรับรองแพทย์ ถ้าเจ็บป่วยหรือหลักฐานอื่นที่แสดงถึงสาเหตุที่ไม่สามารถเข้าสอบได้ต่อครูที่ปรึกษาและหัวหน้างานวัดผลและประเมินผล

5.3 นำใบคำร้องเสนอขอความเห็นชอบจากรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ

5.4 ยื่นหลักฐานทั้งหมดต่อผู้อำนวยการและรอฟังผลการพิจารณา

5.5 เมื่อผู้อำนวยการอนุมัติแล้ว ให้นำคำร้องและหลักฐานทั้งหมดไปยื่นต่อครูประจำวิชาเพื่อนัดวันสอบ ทั้งนี้ไม่เกินวันกำหนดการสรุปผลการเรียนปลายภาคเรียนของภาคเรียนถัดไป

6. การพักการเรียน

6.1 ขอคำร้องขอพักการเรียนที่งานทะเบียนและกรอกรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจนหากนักเรียน นักศึกษาไม่สามารถยื่นคำร้องด้วยตนเองได้ให้บิดา-มารดาหรือ ผู้ปกครองยื่นคำร้องแทน

6.2 บิดา มารดาหรือผู้ปกครองลงชื่อรับรอง

6.3 แนบหลักฐานใบรับรองแพทย์ในกรณีเจ็บป่วย หนังสือรับรองการไปศึกษาดูงานหรือเป็นตัวแทนสถานศึกษาเข้าร่วมประชุมแล้วนำไปขอความเห็นชอบจากครูที่ปรึกษา

6.4 ขอความเห็นชอบจากหัวหน้างานทะเบียน

6.5 นำคำร้องเสนอผู้อำนวยการและรอฟังผลการพิจารณา

6.6 เมื่อได้รับอนุมัติแล้วนำคำร้องส่งเจ้าหน้าที่งานทะเบียน(ภาคเรียนที่พักการเรียนไม่นับรวมอยู่ในระยะเวลาที่ต้องสำเร็จการศึกษา)

7. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักฐานหลังเข้าเรียนแล้ว

การเปลี่ยนชื่อ – ชื่อสกุล ตนเองหรือของบิดา มารดา ต้องขอคำร้องจากงานทะเบียนไปกรอกข้อความต่างๆ และยื่นต่องานทะเบียนพร้อมหลักฐานดังนี้

7.1 ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ – ชื่อสกุล ของตนเองหรือบิดา – มารดา หรือทะเบียนสมรส กรณีที่มารดาจดทะเบียนสมรสภายหลัง พร้อมถ่ายเอกสาร 1 ฉบับ
7.2 การเปลี่ยนยศบิดา ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเปลี่ยนชื่อ – ชื่อสกุล
สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้เสร็จก่อนวันสอบปลายภาค อย่างน้อย 2 สัปดาห์

8. การลาออก

8.1 ขอใบคำร้องขอลาออก จากงานทะเบียนและกรอกรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน

8.2 บิดา มารดาหรือผู้ปกครองลงชื่อรับรอง สำหรับผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วจะมีผู้รับรองหรือไม่ก็ได้

8.3 ขอความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ตามลำดับ

8.4 เมื่อผู้อำนวยการอนุมัติให้ลาออก ให้ส่งคำร้องพร้อมรูปถ่ายในเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน ที่งานทะเบียนและรับใบ รบ. หลังจากยื่นคำร้องแล้วภายใน 1 วัน

9. การขอใบรับรองผลการเรียน

9.1 ขอใบคำร้องขอใบรับรองจากงานทะเบียนและกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ให้ชัดเจน

9.2 ขอความเห็นชอบจากครูที่ปรึกษาและหัวหน้างานทะเบียน

9.3 นำคำร้องเสนอผู้อำนวยการ และรอฟังผลการพิจารณา

9.4 เมื่อได้รับอนุมัติแล้วให้ส่งคำร้องพร้อมรูปถ่ายในเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาขนาด 1 นิ้ว

จำนวน 1 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน ที่งานทะเบียนและรับใบรับรอง หลังจากยื่นคำร้องแล้วภายใน 1 วัน

10. การขอใบระเบียนแสดงผลการเรียน (รบ.) เพื่อแสดงผลการจบหลักสูตร

10.1 ขอใบคำร้อง ขอ รบ. จากงานทะเบียนและกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ให้ชัดเจน

10.2 ขอความเห็นชอบจากครูที่ปรึกษา หัวหน้าแผนกวิชาและหัวหน้างานต่าง ๆ ตามขั้นตอน

10.3 นำใบคำร้องเสนอผู้อำนวยการ และรอฟังผลการพิจารณา

10.4 เมื่อได้รับอนุมัติแล้วให้ส่งคำร้องพร้อมรูปถ่ายในเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน ที่งานทะเบียน(ถ้าขอใบ รบ.ลาออก หรือใบ รบ. สำเร็จการศึกษา ฉบับต่อไป ต้องชำระ ค่าธรรมเนียมในการออก รบ. ฉบับละ 20 บาท)

10.5 นักเรียน นักศึกษาต้องคืนบัตรประจำตัวนักเรียน นักศึกษา ให้กับงานทะเบียนเมื่อสำเร็จการศึกษา

11. การทำบัตรประจำตัวนักเรียน นักศึกษา

นักเรียน นักศึกษาจะต้องทำบัตรประจำตัวนักศึกษาทุกคนและต้องพกติดตัวเสมอ เพื่อใช้ติดต่อกับทางวิทยาลัยฯโดยจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม และจะต้องตรวจหมู่โลหิตและนำผลการตรวจมาประกอบการทำบัตรประจำตัวนักศึกษา พร้อมรูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป แต่งเครื่องแบบตามที่สถานศึกษากำหนด

หมายเหตุ
การติดต่อกับวิทยาลัยฯ ทุกครั้งต้องแสดงบัตรประจำตัวนักศึกษา และแต่งกายเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา ถ้าพ้นสภาพนักเรียน นักศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาแล้วต้องแต่งกายสุภาพ

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart