[vc_row][vc_column][vc_column_text]
โครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิตการศึกษาสำหรับอนาคตของบุตรหลานเกษตรกรและชาวชนบท
กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการจัดการศึกษาตาม “โครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต” ซึ่งเป็นโครงการที่สนองนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ภายใต้นโยบาย “เรียนฟรี
อยู่ประจำ ทำโครงการ”
โครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต เป็นโครงการจัดการศึกษาวิชาชีพการเกษตรให้นักเรียน ซึ่งเป็นบุตรหลานเกษตรกรที่ด้อยโอกาสในชนบท และนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาสที่จบการศึกษาระดับ
ม.ต้น (ม.3) ได้เข้าเรียนวิชาชีพ โดยได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียนตลอดระยะเวลาเรียนในวิทยาลัยฯ 3 ปี ตามหลักสูตร ปวช. 2562 ประเภทวิชาเกษตรกรรม สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนวิชาเลือกได้หลากหลาย เช่น สาขางานการเกษตร การผลิตพืช การผลิตสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้วิทยาลัยฯ ได้รับการจัดสรรบ้านพัก และมีเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าอาหารและทำโครงการเกษตรเพื่อยังชีพให้กับผู้เรียนคนละ 5,000 บาทต่อปี
วัตถุประสงค์โครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต
- เพื่อให้โอกาสบุตรหลานเกษตรกรผู้ด้อยโอกาสในชนบทและนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้น ม.3จากโรงเรียนในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ได้เข้าศึกษาตามหลักสูตร ปวช. (3 ปี)
- เพื่อพัฒนากำลังคนระดับกลางด้านการเกษตรให้มีความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีในด้านการผลิต การแปรรูป และการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย
- เพื่อพัฒนา และยกระดับการศึกษาของผู้ประกอบการอาชีพการเกษตรให้สูงขึ้น เพื่อให้ประชากรในภาคการเกษตรได้นำความรู้ไปพัฒนางานอาชีพการเกษตรของตนเอง และของส่วนรวม
ให้เกิดความมั่นคงมีรายได้เพิ่มขึ้น มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระบบข้อมูล ข่าวสารตลอดทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก - เพื่อใช้ทรัพยากรของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและพัฒนาวิทยาลัยฯ ให้มีความพร้อมในการจัดการศึกษาวิชาชีพ
การจัดการเรียนการสอน
ตามโครงการเกษตรเพื่อชีวิต มุ่งเน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติงานอาชีพเกษตรโดยใช้หลักการ
“การเรียนภาคปฏิบัติ สู่ทฤษฎี” และใช้ระบบปฏิบัติการบันทึก การรายงาน การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และพัฒนาตนเอง เพื่อให้นักเรียน “คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น” ทั้งนี้โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินทุนเพื่อการศึกษาให้นักเรียนทุกคน เรียนฟรี อยู่ประจำ ทำโครงการ
[/vc_column_text][vc_column_text]
เรียนฟรี
เป็นการแบ่งเบาภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียน การสอนของบุตรหลานเกษตรกร โดยรัฐจัดให้เรียนฟรี คือ
- ได้รับการยกเว้น ค่าเล่าเรียนเป็นเวลา 3 ปี ตามหลักสูตรประกาศนียบัตร วิชาชีพ ปวช. ประเภทวิชาเกษตรกรรม
- เสริมศักยภาพของนักเรียน ให้มีความรู้พิเศษด้านการขับรถยนต์ การใช้คอมพิวเตอร์ การใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ พร้อมทั้งได้เรียนวิชาชีพระยะสั้นหลากหลายตามความสนใจ
[/vc_column_text][vc_column_text]
อยู่ประจำ
เป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย เรื่องค่าที่พัก ค่าอาหารของนักเรียน จึงกำหนดให้นักเรียนอยู่ประจำ คือ
- มีบ้านพักให้นักเรียนได้อยู่อาศัยตลอดระยะเวลาการเรียนตามหลักสูตรในระบบนักเรียนประจำซึ่งจัดให้เข้าพักที่บ้านพักหลังละ 4 คน โดยแยกบ้านพักระหว่างนักเรียนชาย และนักเรียนหญิง
- มีอาคารเอนกประสงค์ ประจำหมู่บ้านพัก สำหรับพัฒนาเป็นศูนย์วิชาการ เพื่อให้นักเรียนได้พักผ่อนและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ศึกษาจากสื่อทางไกล สื่อวีดีทัศน์
- มีโรงอาหารรวมและบริการอาหารฟรีแก่นักเรียนที่อยู่ประจำ
- จัดสาธารณูปโภคและบรรยากาศสิ่งแวดล้อมในบริเวณบ้านพักของนักเรียนประจำให้มีความสะดวก สบาย สะอาด สวยงาม และเพื่อประโยชน์ต่อการทำกิจกรรม ร่วมกันพัฒนาตนเอง
- จัดครูพี่เลี้ยงคอยดูแลและพัฒนานักเรียนในระบบนักเรียนประจำ โดยครู จำนวน 1 คน รับผิดชอบนักเรียน 20-30 คน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาบุคลิกภาพความเป็นผู้นำ
- จัดครู-อาจารย์ ที่มีความรู้ความสามารถด้านอาหาร และโภชนาการคอยดูแล และช่วยเหลือการประกอบอาหารของนักเรียน
[/vc_column_text][vc_column_text]
ทำโครงการ
เป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียน ได้ทำโครงการเกษตรเพื่อยังชีพ และเสริมสร้างทักษะประสบการณ์ด้านอาชีพการเกษตร โดยจัดเงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายให้ฟรี ทุกภาคเรียน คือ
- นักเรียนในโครงการทุกคนต้องเขียนโครงการเกษตร ให้มีความสอดคล้องกับการเรียนการสอน ในด้านการปฏิบัติจริงประกอบอาชีพ เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารเพื่อการยังชีพ และโครงการเพื่อหารายได้ในระหว่างเรียน สำหรับนักเรียนในโครงการทุกคน
- สถานศึกษาปรับปรุง จัดหาพื้นที่ทำการเกษตรและแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรให้เพียงพอกับการทำโครงการเกษตรเพื่อยังชีพ และโครงการเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน สำหรับนักเรียนในโครงการทุกคน
- นักเรียนในโครงการรับผิดชอบร่วมกันในการประกอบอาหารเลี้ยงตนเองและเพื่อน ๆ จากผลผลิตที่เกิดจากการร่วมแรง ร่วมใจ ทำโครงการเกษตรที่เป็นผลจากการเรียนด้วยการปฏิบัติของนักเรียนทุกคน
- ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนในโครงการรู้จักการจำหน่ายผลผลิต
- จัดครู-อาจารย์ ที่ปรึกษา โครงการเกษตรสำหรับนักเรียนเพื่อวางแผนการเรียนการปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาชีพ พร้อมทั้งได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและเพียงพอกับการประกอบอาหารเลี้ยงชีพ และจำหน่ายเป็นรายได้ระหว่างเรียน
[/vc_column_text][vc_column_text]
ระเบียบวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง
ว่าด้วยบ้านพักนักเรียน นักศึกษาโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต พ.ศ. 2542
…………………………………….
ด้วยคณะกรรมการสถานศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง มีมติเห็นสมควรให้มีระเบียบบ้านพักสำหรับนักเรียน นักศึกษา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2542 จึงอาศัยอำนาจตามระเบียบ กรมอาชีวศึกษา
ว่าด้วยการบริหารวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง พ.ศ. 2541 วางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ว่าด้วยบ้านพักนักเรียน นักศึกษาโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต พ.ศ. 2542”
ข้อ 2 ในระเบียบนี้ คำว่า
“วิทยาลัยฯ” หมายความว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง
“ผู้รักษาการ” หมายความว่า ผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ วิทยาลัย เกษตรและเทคโนโลยีตรัง
“บ้านพัก” หมายความว่า ที่พักนักเรียน นักศึกษา โครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง
“ผู้ปกครองบ้านพัก” หมายความว่า ครู-อาจารย์ ที่วิทยาลัยฯ แต่งตั้งให้ทำหน้าที่ ควบคุมดูแลบ้านพัก
“ครูพี่เลี้ยง” หมายความว่า ครู-อาจารย์ ที่วิทยาลัยฯ แต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดูแลแนะนำความประพฤติ ความเป็นอยู่และการเรียนของนักเรียน นักศึกษา
“ผู้ใหญ่บ้าน” หมายความว่า นักเรียน นักศึกษาที่วิทยาลัยฯ แต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่ หัวหน้าดูแลบ้านแต่ละประเภท
“ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน” หมายความว่า นักเรียน นักศึกษาที่วิทยาลัยฯ แต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่หัวหน้าดูแลบ้านพักแต่ละประเภท
“หัวหน้าห้องพัก” หมายความว่า นักเรียน นักศึกษาที่วิทยาลัยฯ แต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่ดูแลห้องพัก
“ผู้พัก” หมายความว่า นักเรียน นักศึกษาโครงการปฏิรูปการเกษตร เพื่อชีวิตและหรือนักเรียน นักศึกษาที่วิทยาลัยฯ อนุญาตให้เข้าพักตามโอกาส
“นักเรียนนักศึกษา” หมายความว่า นักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง
หมวด 1
การจัดบ้านพัก
ข้อ 3 วัตถุประสงค์ในการจัดบ้านพัก
- เพื่อสนองนโยบายโครงการปฏิรูปการเกษตรเพื่อชีวิต
- เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาที่พักอาศัยในวิทยาลัยฯ มีความสะดวกในการศึกษาเล่าเรียน
- เพื่อปลูกฝังให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบ รู้จักปกครองตนเอง และปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี
- เพื่อฝึกทักษะและสร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพเกษตรกรรม
ข้อ 4 บ้านพัก มี 2 ประเภท
- บ้านพักนักเรียน นักศึกษาชาย
- บ้านพักนักเรียน นักศึกษาหญิง
ข้อ 5 การจัดบ้านพัก ทั้ง 2 ประเภท (ตามข้อ 4) ให้แยกจากกัน มีรั้วกั้นแบ่งบริเวณชัดเจน ที่พักต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พักได้ตามสมควร โดยคำนึงถึงความสวยงาม ความปลอดภัย สุขภาพอนามัย และมีบรรยากาศ วิทยาลัยฯ แต่งตั้งผู้ปกครองบ้านพักเพื่อควบคุมดูแลทั่วไป ประเภทละ 1 คน หรือมากกว่าตามความเหมาะสม
ข้อ 6 การสั่ง เปิด-ปิด บ้านพัก ตลอดจนการควบคุมดูแลบ้านพัก เป็นอำนาจของวิทยาลัยโดยผู้อำนวยการ หรือผู้รักษาการออกประกาศให้ผู้พักทราบก่อนกำหนดเปิด-ปิด ตามความเหมาะสม
หมวด 2
การเข้าอยู่ประจำบ้านพัก
ข้อ 7 หลักเกณฑ์การรับผู้พัก
- นักเรียน นักศึกษาโครงการปฏิรูปการเกษตรเพื่อชีวิต และหรือนักเรียน นักศึกษาที่วิทยาลัยฯ อนุญาตให้พักตามโอกาส
- การเข้าอยู่ประจำบ้านพักเป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้
- ผู้เข้าอยู่ประจำบ้านพัก ต้องมีใบมอบตัวจากผู้ปกครองของผู้พักเป็นลายลักษณ์อักษร
- ผู้พักเข้าพักบ้านพักได้ ต่อเมื่อวิทยาลัยฯ ประกาศเปิดบ้านพักเท่านั้น
- ผู้พักประสงค์จะอยู่บ้านพัก ในระหว่างปิดภาคเรียน และหรือระหว่างวิทยาลัยฯ ประกาศปิดบ้านพัก ต้องให้ผู้ปกครองบ้านพัก หรืออาจารย์ที่ปรึกษาแจ้งความจำนงต่อวิทยาลัยฯ เป็นลายลักษณ์อักษรผ่านผู้ปกครองบ้านพัก ก่อนปิดภาคเรียนหรือประกาศปิดบ้านพักไม่น้อยกว่า 7 วัน
ข้อ 8 หลักเกณฑ์การให้ผู้พักออกจากบ้านพัก
- พ้นสภาพการเป็นนักเรียน นักศึกษา
- วิทยาลัยฯ ประกาศปิดบ้านพัก
- ผู้พักต้องออกจากบ้านพักอย่างช้าภายใน 1 วัน นับจากวันกำหนด (ตามข้อ 8(1) และ 8(2)
- ผู้พักต้องมอบกุญแจ และแจ้งรายการวัสดุ ครุภัณฑ์ ประจำบ้านพักต่อผู้ปกครองบ้านพักก่อนออกจากบ้านพัก
หมวด 3
การควบคุมดูแลบ้านพัก
ข้อ 9 หน้าที่ผู้ปกครองบ้านพัก
- ประสานงานกับหัวหน้าสวัสดิการพยาบาลและหอพักเพื่อจัดกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเข้าพักอาศัยในบ้านพัก
- ดูแลควบคุมและรับผิดชอบทั่วไปเกี่ยวกับบ้านพัก
- ควบคุมดูแลการใช้และบำรุงทรัพย์สินของบ้านพัก
- แนะนำว่ากล่าวตักเตือนและพิจารณาโทษผู้พัก ซึ่งปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบบ้านพัก
- จัดทำทะเบียนผู้อยู่บ้านพัก ทะเบียนผู้เยี่ยม ทะเบียนเข้า-ออก ของผู้พักตามแบบที่วิทยาลัยฯ กำหนด
- ร่วมกับนักเรียน นักศึกษากำหนดข้อตกลงเพื่อจัดระบบบ้านพัก ตั้งกฎเกณฑ์และจัดกิจกรรมกลุ่ม เพื่อสนับสนุนอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ขัดแย้งกับระเบียบของทางราชการ
- ประสานงานและให้ความร่วมมือกับฝ่ายจัดการศึกษา งานส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ครูพี่เลี้ยง อาจารย์ที่ปรึกษาในด้านการเรียน การสอน และความประพฤตินักเรียนนักศึกษา
- ประสานงานและอำนวยความสะดวกที่พักแก่คณะบุคคล หรือหน่วยงานอื่นที่ขออนุเคราะห์ที่พัก ตามที่วิทยาลัยฯ เห็นชอบ
- พิจารณาเสนอแนะ แก้ไขระเบียบของบ้านพักตามความจำเป็นและเหมาะสม
- เสนองาน/โครงการที่ปฏิบัติตามลำดับชั้น
ข้อ 10 การขอพบหรือเยี่ยมผู้พัก
- ผู้ขอพบหรือผู้ประสงค์เยี่ยมผู้พัก จะต้องขออนุญาตวิทยาลัยฯ ทุกครั้ง
- พบและเยี่ยมผู้พักได้เฉพาะนอกเวลาเรียนเท่านั้น และต้องก่อนเวลา 19.30 น. ยกเว้นมีเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ให้แจ้งผู้ปกครองบ้านพัก หรือวิทยาลัยฯ เป็นกรณีไป ทั้งนี้ผู้มาเยี่ยมหรือผู้ขอพบ จะพบปะสนทนากับผู้พักได้เฉพาะในสถานที่ที่วิทยาลัยฯ กำหนดไว้เท่านั้น
ข้อ 11 บ้านพักทั้ง 2 ประเภท ตามข้อ 4 จัดให้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และหัวหน้าห้องพัก ทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้พักในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และควบคุมดูแลผู้พัก ตลอดทั้งวัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ และทรัพย์สินอื่น ๆ ของบ้านพัก โดยผ่านความเห็นชอบของผู้ปกครองบ้านพัก
ข้อ 12 ให้วิทยาลัยฯ มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการบ้านพัก ตามข้อ 11 ให้อยู่ในตำแหน่ง
คราวละ 1 ปีการศึกษา
หมวด 4
ข้อปฏิบัติการอยู่บ้านพัก
ข้อ 13 หน้าที่ของผู้พัก
- ผู้พักจะต้องอยู่ในบริเวณบ้านพักชาย และบ้านพักหญิง ในบริเวณที่วิทยาลัยฯ จัดไว้ตามความเห็นชอบของผู้ปกครองบ้านพัก จะเปลี่ยนแปลงก่อนได้รับอนุญาตไม่ได้
- ตั้งแต่เวลา 19.30 น. ถึง 05.30 น. ของวันรุ่งขึ้น ผู้พักทั้งชายและหญิงจะต้องอยู่ในบริเวณบ้านพัก ยกเว้นวิทยาลัยฯ อนุญาตกรณีพิเศษ
- ผู้พักที่ประสงค์จะออกนอกบริเวณบ้านพักตามระยะเวลาที่วิทยาลัยฯ กำหนดหรือจะไม่พักในวันเสาร์-อาทิตย์ และหรือวันหยุดราชการ ต้องขออนุญาตผู้ปกครองบ้านพักเป็นลายลักษณ์อักษร ตามแบบการขออนุญาตออกนอกบ้านพักและกลับเข้าบ้านพักตามกำหนดในใบขออนุญาตออกนอกบริเวณบ้านพัก และกำหนดเวลาตามข้อ 13(2)
- ผู้พักต้องดูแลรักษาซ่อมแซมเครื่องนอนให้สะอาดเรียบร้อยและต้องมีผ้าปูที่นอนปลอกหมอน ให้ถูกต้องและสวยงาม
ข้อ 14 ถ้าปรากฏว่าบ้านพัก วัสดุ-อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ และเครื่องนอนภายในบ้านชำรุดเสียหาย โดยเจตนา หรือด้วยความประมาทเลินเล่อ ผู้พักจะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามราคาประเมิน
ข้อ 15 ห้ามผู้พักนำเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดมาใช้ และหุงต้มหรือปรุงอาหารในบ้านพัก ยกเว้น เตารีดผ้า วิทยุหูฟัง
ข้อ 16 ห้ามผู้พักนำของมีค่ามาเก็บไว้ในบ้านพัก หากมีการสูญหายวิทยาลัยฯจะไม่รับผิดชอบใดๆ
ข้อ 17 ผู้พักต้องไม่กระทำอันก่อให้เกิดผลเสียหายแก่เกียรติยศ ชื่อเสียงของตนเอง และผู้อื่น
ข้อ 18 ห้ามผู้พักหรือผู้มาเยี่ยมนำอาวุธหรือวัตถุระเบิดทุกชนิด เข้ามาในบริเวณบ้านพัก หรือเก็บไว้ในบ้านพักโดยเด็ดขาด
ข้อ 19 ผู้พักต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านพัก ห้ามก่อเหตุทะเลาะวิวาท ไม่ทำเสียงเอะอะจนเป็นที่รำคาญผู้อื่น เวลา 21.00 น. ถึง 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เป็นเวลาทำการบ้านทบทวนบทเรียน อ่านหนังสือ และพักผ่อน
ข้อ 20 ผู้พักต้องเชื่อฟังผู้ปกครองบ้านพัก ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าห้องพักและปฏิบัติตามคำสั่งต่าง ๆ อันชอบธรรม การขัดขืนคำสั่งถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของวิทยาลัยฯ จะได้รับการพิจารณาโทษตามแต่กรณี
ข้อ 21 ผู้พักซึ่งเจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุ ให้ผู้พักหรือผู้อยู่ใกล้ชิดแจ้งต่อผู้ปกครองบ้านพัก เพื่อนำส่งโรงพยาบาล ส่วนการเจ็บป่วยธรรมดา ผู้พักควรได้รับการปฐมพยาบาลที่ห้องพยาบาลของวิทยาลัยฯ หรือสถานที่ที่ผู้ปกครองบ้านพักจัดไว้ตามความเหมาะสม
ข้อ 22 ผู้พักที่เจ็บป่วย ด้วยโรคติดต่อร้ายแรง ให้แจ้งผู้ปกครองเพื่อรับไปพักรักษาตัวภายนอกบ้านพักชั่วคราว
ข้อ 23 ผู้พักกระทำการผิดระเบียบบ้านพัก จะถูกพิจารณาโทษตามระเบียบกรมอาชีวศึกษา ว่าด้วย การพิจารณาโทษนักเรียน นักศึกษา พ.ศ. 2534 และระเบียบวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ว่าด้วยการพิจารณาโทษนักเรียน นักศึกษา พ.ศ. 2538
หมวด 5
การบริหารงาน
ข้อ 24 ให้วิทยาลัยฯ แต่งตั้งกรรมการปกครองดูแลรักษาบ้านพัก แต่ละปีการศึกษา เพื่อร่วมประชุมปรึกษาหารือ และควบคุมดูแลความเป็นอยู่ของผู้พัก ความสะดวกสบาย ความสะอาดความเรียบร้อยทั่วไป การสร้างบรรยากาศภูมิทัศน์ และความสงบเรียบร้อยในบ้านพัก ประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายจัดการศึกษาเป็นประธาน ผู้ช่วยผู้อำนวยฝ่ายบริการศึกษา เป็นรองประธาน หัวหน้างานสวัสดิการพยาบาลและหอพัก หัวหน้างานส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม หัวหน้างานแนะแนวการศึกษา ครูพี่เลี้ยง ผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการ ผู้ปกครองบ้านพักชายเป็นกรรมการ และเลขานุการ และผู้ปกครองบ้านพักหญิงเป็นกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ 25 ให้มีการประชุมคณะกรรมการปกครองดูแลรักษาบ้านพัก อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยมี การบันทึกการประชุม และรายงานผลการประชุมให้วิทยาลัยฯ ทราบทุกครั้งภายใน 7 วันหลังจากวันประชุม
ข้อ 26 ให้ผู้อำนวยการ เป็นผู้รักษาการ ให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ 28 เมษายน 2542
ลงชื่อ ยกย่อง พิศุทธางกูร
(นายยกย่อง พิศุทธางกูร)
ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง
[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]